การตักบาตร มีคุณอนันต์ เป็นลาภมหันต์ของชาวพุทธ?


การตักบาตร คือประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำของทำทานต่างๆ เช่น ข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ
ประเพณีนี้ชาวพุทธถือกันว่าเป็นการสร้างกุศล และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย 
ช่วงนี้มีกระแสข่าวดีกระจายไปทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นบรรยากาศที่น่าปีติ ดีใจ เบิกบานสำหรับชาวพุทธทั้งหลายจะได้โอกาสตักบาตร สั่งสมบุญใหญ่ให้กับตนเอง ที่ว่าบุญใหญ่ เพราะได้มีกิจกรรมตักบาตรเกิดขึ้นทั่วเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย  ส่วนพระภิกษุ สามเณรที่เดินทางมาเป็นเนื้อนาบุญ ก็คือ บุตรหลานของพวกเราทั้งหลายที่ตั้งใจเข้ามาฝึกฝนตน ศึกษาธรรมะ ผ่านกิจวัตร กิจกรรม ในช่วงภาคฤดูร้อน เปรียบเหมือนได้ปลูกต้นกล้าแห่งความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของลูกๆ หลานๆ ให้มีความผูกพัน รักและเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ก็คืออนาคตของชาติและของพระพุทธศาสนา



ตรงกันข้ามกลับมีอีกกระแส ที่น่าเศร้า คือมีข่าวคราวโด่งดังในช่วงนี้ ที่มีชนกลุ่มหนึ่งแค่หยิบมือ ออกมาต่อต้านการตักบาตรพระหมื่นรูป แสนรูป แต่สื่อมวลชนก็ตีกระแสออกมาเป็นข่าวหลายสำนัก ดิฉันรู้สึกงง มึน อยู่พักใหญ่ว่าสื่อเมืองไทยไม่มีมาตรฐานในการนำเสนอข่าวขนาดนี้เชียวหรือ? ทั้งที่คนต่อต้านนั้นนับเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาพร้อมใจกันมาสร้างมหาทานในแต่ละที่ที่มีกิจกรรมตักบาตร

           หลายๆ คำถามเกิดขึ้นในใจว่า คนที่ชูป้ายต่อต้านนั้น เขาเป็นชาวพุทธหรือไม่ เขาเป็นคนท้องถิ่น? เขาคิดอย่างไร? ดิฉันคิดวิเคราะห์เล่นๆ ว่า คนประเภทนี้เขาคงใจคับแคบมาก เห็นแก่ตัวแบบสุดๆ ควรจะให้รัฐบาลเรียกไปปรับทัศนคติอย่างด่วน จะถือว่าเข้าข่ายบุคคลผู้มีความเห็นผิด เห็นคนทำบุญแล้วแสลงหรืออย่างไร? 


        การทำทาน นับเป็นนิสัยของคนใจกว้าง ใจใหญ่ ผู้มีหัวใจเผื่อแผ่ เมตตา เสียสละ ได้มาก็ให้ไป ยิ่งถ้าเป็นการให้ของผู้มีหัวใจเยี่ยงพระโพธิสัตว์แล้วปุถุชนอย่างเราคงคิดไม่ถึง ว่าท่านทำไปได้อย่างไร  วันนี้จึงขอนำประโยชน์ของการใส่บาตรมาเล่าสู่กันฟังค่ะ ตอกย้ำความสำคัญของการตักบาตร ที่เราอาจคาดไม่ถึงค่ะ
        ความงดงามหนึ่ง ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้หลั่งไหลข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาเก็บเกี่ยวบรรยากาศถึงแดนดินถิ่นไทย คือ ภาพของพระสงฆ์สามเณรผู้สงบเรียบร้อย ออกเดินเรียงรายบิณฑบาตในยามเช้า ซึ่งสีของจีวรและความงดงามของจริยวัตรพระสงฆ์ไทย ที่ได้รับการยอม รับจากชาวพุทธทั่วโลกว่ามีความอุดมด้วยปฏิปทาอันน่าเลื่อมใสที่สุด ยังคงสง่างามและศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอเมื่อกระทบกับแสงทองของดวงอาทิตย์ที่ฉายแสงสุกประกายในยามเช้า



       ประเทศไทยนับว่าเป็นเมืองที่มีโชค ที่ทุกวันนี้เรามีโอกาสได้เห็นสมณะออกเดินบิณฑบาตในยามเช้าแทบทุกตรอกซอกซอย โดยไม่ต้องลำบากลำบนดิ้นรนหาพระสงฆ์เพื่อใส่บาตรเหมือนกับประเทศอินเดีย-เนปาล ที่เคยเป็นถึงต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา ไม่ต้องกระเสือกกระสนดั้นด้นบินลัดฟ้ามาเพื่อชมความงามของประเพณีการบิณฑบาตอย่างพวกฝรั่งมังค่า แต่ด้วยความที่ในปัจจุบันสังคมมีการแข่งขันและเร่งรีบมากขึ้น จึงทำให้ชาวพุทธเราเองกลับยิ่งออกห่างจากประเพณีอันดีงามอย่างการตักบาตรพระในยามเช้า ทั้งที่คุณประโยชน์ของการใส่บาตรในตอนเช้ามีมากมายหลายประการด้วยกัน



1. การใส่บาตรทุกวัน ย่อมได้รับอานิสงส์ 5 ประการ ที่ตามพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ 1) เป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย 2) คนดีมีปัญญาย่อมชอบคบค้าสมาคมด้วย 3) มีชื่อเสียงที่ดีงาม4) เป็นผู้ไม่ห่างไกลธรรม และ 5) เมื่อตายแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์
2. การใส่บาตรทุกวัน ทำให้จิตใจเกาะอยู่กับความดี เป็นการฝึกจิตให้คลุกเคล้าอยู่กับกุศล ซึ่งเป็นทางแห่งความเจริญ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรับรองว่า "ผู้ฝึกจิตดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้" เพราะเมื่อตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่จะนึกถึงคือจะหาอะไรใส่บาตรดี ซึ่งจุดนี้ก็เรียกว่าเป็นสังฆานุสติ เพราะนึกถึงพระสงฆ์ และจาคานุสติ เพราะนึกถึงสิ่งที่จะนำใส่บาตรพระ ถือเป็นบุญการเจริญพระกรรมฐานถึง ๒ กองด้วยกัน
3. เป็นการลดความตระหนี่ บรรเทาความเห็นแก่ตัว สร้างใจให้เป็นสุขและ สร้างสังคมให้ร่มเย็น เพราะเป้าหมายหลัก ของการให้ทานที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ เพื่อกำจัดความตระหนี่ มุ่งสู่ความดีและความเสียสละ
4. เป็นการต่อบุญต่อลาภให้แก่ตนเอง เพราะการใส่บาตรเป็นการเสริมทานบารมีโดยตรง เป็นการสร้างทางแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยและความคล่องตัวในโลก ยิ่งทำทุกวัน กุศลก็ยิ่งส่งผลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถหลีกพ้นความยากจนได้อย่างถาวร
5. เพื่อการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไปแล้ว อันเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีคุณ



6. เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของเรา เอาไว้ เพื่อความงดงามและมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติ
7. เป็นแบบอย่างการส่งต่อความดีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ลูกหลานมีแบบอย่างในการทำความดีสืบต่อไป เพราะถ้าคนเป็นพ่อแม่ไม่ทำตัวอย่างไว้ ลูกหลานก็ไม่มีตัวอย่างดู ต่อไปคนรุ่นใหม่ก็จะไม่กล้าทำ แล้ววัฒนธรรม ที่ดีงามของเราก็จะสูญสลายไปในที่สุด
8. เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์สามเณรต้องอยู่ด้วยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ถ้าไม่มีใครใส่บาตร ก็ไม่มีอาหาร เมื่อไม่มีอาหารย่อมไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ แล้วพุทธศาสนาก็อาจจะสิ้นสุดลงในยุคปัจจุบัน

9. การใส่บาตรเป็นการสร้างความปรองดองให้กับชาวพุทธ เป็นการหยุดวิกฤตความศรัทธา เพราะถ้าชาวพุทธทุกบ้านพร้อมเพรียงกันใส่บาตร จะเกิดเป็นพลังแห่งความสามัคคีขึ้น ซึ่งพลังนี้จะช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบสุข ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ความสามัคคีของหมู่คณะ ย่อมทำให้เกิดสุข" ทำให้ชาวพุทธมีความเข้มแข็ง และสามารถจะสร้างกรอบอันดีงามให้แก่ภิกษุสามเณรทั้งหลายไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางได้
         ประโยชน์  9 อย่างของการใส่บาตรนี้ นับเป็นคุณอนันต์ เป็นลาภมหันต์ของชาวพุทธ ที่สามารถสั่งสมบุญได้ทุกวัน ...เมื่อการใส่บาตรมีคุณค่าถึงเพียงนี้ แล้ว เราในฐานะชาวพุทธจะยอมปล่อยให้เสียประโยชน์และความสุขในส่วนนี้ไปเปล่าๆ ได้เชียวหรือ?
      วันที่ 22 เม.ย. 2559 ที่กำลังจะถึงนี้ องค์การ Unesco ได้กำหนดให้เป็นวันคุ้มครองโลกและยังพ้องตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ท่านจึงปรารภสั่งสมบุญใหญ่ เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงามและต่ออายุพระพุทธศาสนา จึงมีกิจกรรมตักบาตรพระ สามเณร จำนวน 100,000 รูป ที่วัดพระธรรมกาย จึงขอเรียนเชิญทุกท่านมาสร้างบุญใหญ่ให้กับตัวเองและครอบครัว ทั้งยังเป็นการอุทิศบุญนี้ให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วค่ะ มาเยอะๆ นะค่ะ


                                                                                                           

                                                                                                              โดย มะลิ สไมล์

 อ้างอิงข้อมูล: 1. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, http://goo.gl/jvwmlu
                       2. การตักบาตร https://goo.gl/0DH842


การตักบาตร มีคุณอนันต์ เป็นลาภมหันต์ของชาวพุทธ? การตักบาตร มีคุณอนันต์ เป็นลาภมหันต์ของชาวพุทธ? Reviewed by Mali_Smile1978 on 04:07 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.