ปูชา จะ ปูชะนียา นัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง การบูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นอุดมมงคล: น้อมบูชาบุคคลที่ควรบูชาเนื่องในวันครบ ๑๐๐ ปีแห่งการบรรลุธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย


     ซึ่งวันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายในปีนี้ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับวันอังคารที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นวันครบ ๑๐๐ ปีแห่งการบรรลุธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ

     ด้วยการสละชีวิตปฏิบัติธรรมถึง ๒ คราว จนเข้าถึงพระธรรมกาย และได้ศึกษาวิชชาธรรมกายจนเกิดความเชี่ยวชาญ แล้วได้มุ่งมั่น เผยแผ่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกาย จนตลอดชีวิตของท่าน หลวงปู่วัดปากน้ำเป็นตัวอย่างของพระภิกษุผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นพระนักปฏิบัติธรรม และเป็นพระนักพัฒนา พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ คือ จอมทัพธรรม ผู้นำในการสร้างบารมีเพื่อไปสู่ที่สุดแห่งธรรมโดยท่านตั้งความปรารถนาจะค้นคว้าวิชชาธรรมกายไปให้ถึงที่สุด ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากการเป็นบ่าว เป็นทาสของพญามาร เอาชนะให้ได้เด็ดขาด

     นับเป็นโอกาสทองสำหรับเราเหล่าศิษยานุศิษย์ที่จะได้ระลึกนึกถึงคุณของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ จะได้บูชาบุคคลที่ควรบูชาเพราะการบูชาบุคคลที่ควรบูชานับเป็นมงคลอันสูงสุด

“ผู้ใด พึงบูชาท่านผู้อบรมตนแล้วผู้หนึ่ง แม้เพียงครู่เดียว การบูชาของผู้นั้น ประเสริฐกว่าการบูชาของบุคคลผู้บูชา (โลกิยมหาชน) ด้วยทรัพย์เดือนละพัน ตลอดร้อยปี” 
(ที่มา: ขุ. ธ. ๒๕/๑๘/๒๙)



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ว่า

ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดแล ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา

เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรมผู้นั้น ชื่อว่า สักการะเคารพ นับถือ บูชายำเกรงนอบน้อมตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม

     การเคารพบูชาต่อพระรัตนตรัยที่ดีที่สุด คือการทำใจหยุด ใจนิ่ง เพราะเป็นปฏิบัติบูชาที่จะพาเราเข้าสู่การเข้าถึง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยภายใน 

     พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญว่า การปฏิบัติบูชา เป็นเลิศกว่าอามิสบูชา เพราะใครก็ตามบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการทำใจหยุดนิ่งให้เข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ย่อมได้ชื่อว่า ทำการบูชาอันสูงสุด มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่เกินจะพรรณนาได้

     ส่วนอามิสบูชาที่ทำด้วยจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในผู้มีคุณธรรมสูงสุด เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้สะอาดหมดจดจากกิเลสอาสวะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มหาศาล ดังเช่นเรื่องราวของนายสุมนมาลาการ

     เรื่องมีอยู่ว่า ในกรุงราชคฤห์ มีช่างจัดดอกไม้คนหนึ่ง ชื่อ "สุมนะ" ทุกๆ เช้า เขาจะนำดอกมะลิ ๘ ทะนาน ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร และจะได้ทรัพย์มาเป็นค่าดอกไม้วันละ ๘ กหาปณะเป็นประจำ

     วันหนึ่ง ขณะที่เขาถือดอกไม้จะนำไปถวายพระราชา พระบรมศาสดาเสด็จมาบิณฑบาต พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์จำนวนมาก พระพุทธองค์ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีออกจากพระวรกาย นายสุมนะเห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธามาก อยากจะถวายดอกมะลิทั้ง ๘ ทะนาน ที่ถืออยู่ในมือ เพื่อเป็นพุทธบูชา 

     เขาคิดว่า "ถ้าหากพระราชาไม่ได้รับดอกไม้เหล่านี้ในวันนี้ เราอาจจะถูกประหาร หรือถูกเนรเทศออกจากแว่นแคว้นก็ได้ แต่ก็ช่างเถอะ เพราะถึงพระราชาจะทรงอนุเคราะห์เรา ด้วยการพระราชทานทรัพย์เป็นค่าดอกไม้ ก็คงพอเลี้ยงชีวิตได้แค่ในภพชาตินี้เท่านั้น แต่การบูชาพระบรมศาสดาด้วยดอกไม้เหล่านี้ จะทำให้เราได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

     เขาคิดอย่างนี้แล้วก็ตัดสินใจสละชีวิต โปรยดอกไม้ทั้ง ๘ ทะนาน บูชาพระบรมศาสดาทันที ทันใดนั้น สิ่งอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น คือ ดอกมะลิทั้ง ๘ ทะนาน ไม่ได้ตกถึงพื้นดินเลย ดอกมะลิ ๒ ทะนาน ได้กลายเป็นเพดานดอกไม้ แผ่อยู่เหนือพระเศียรของพระบรมศาสดา อีก ๒ ทะนาน แผ่เป็นกำแพงดอกไม้ลอยอยู่ข้างขวา และ ๒ ทะนานอยู่ข้างซ้าย ส่วนอีก ๒ ทะนาน อยู่ข้างหลัง กำแพงดอกไม้ทั้งหมดนี้ ลอยไปพร้อมกับพระบรมศาสดา เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระดำเนิน กำแพงดอกมะลิทั้งหมดก็ลอยตามไป เมื่อประทับยืน กำแพงดอกมะลิก็หยุดอยู่กับที่เหมือนกัน
     นายสุมนะเห็นดังนั้น เกิดความปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง ได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วกลับไปยังเรือนของตน เมื่อกลับไปถึงบ้าน ภรรยาของเขาถามหาดอกไม้สำหรับพระราชา เขาตอบว่า "ถวายพระบรมศาสดาไปแล้ว"

ภรรยาถามอีกว่า "แล้วจะหาดอกไม้ที่ไหนไปถวายพระราชาล่ะ"

เขาตอบว่า "ฉันได้ตัดสินใจแล้วว่า ยอมสละชีวิตถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระบรมศาสดา ถ้าพระราชาจะลงพระอาญาอย่างไร ฉันก็ยอม"
     ภรรยาเขาเกิดความกลัวในพระอาญา จึงต่อว่าสามีแล้วนางก็รีบพาลูกไปเฝ้าพระราชา กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดเพื่อเอาตัวรอดว่า สิ่งที่นายสุมนะทำไปนั้น ขอให้เป็นเรื่องของเขาเพียงผู้เดียว ตนเองไม่ข้องเกี่ยวด้วย และจะขอหย่ากับนายสุมนะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
     พระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นสัมมาทิฏฐิ และบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย พอได้สดับแล้วพระองค์รู้สึกชื่นชมนายสุมนะ แต่ก็แกล้งทำเป็นพิโรธตรัสว่า "เราต้องเอาผิดกับนายสุมนะให้จงได้" รับสั่งให้ภรรยานายสุมนะกลับไป แล้วพระองค์ก็รีบตามเสด็จพระบรมศาสดาไปตลอดทาง


     พระบรมศาสดาทรงทราบว่า พระราชามีจิตเลื่อมใส จึงเสด็จดำเนินต่อไปเพื่อให้พระราชาได้อนุโมทนาในการทำความดีของนายสุมนะ พระองค์ไม่ทรงประทานบาตรให้ใครเลย เสด็จไปจนถึงพระลานหลวง จึงได้ประทานบาตรแก่พระราชา พระพุทธองค์เสวยภัตตาหารที่พระลานหลวง ทรงอนุโมทนา แล้วจึงเสด็จกลับสู่พระวิหาร ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นยังคงลอยติดตามพระองค์ไปตลอดเวลา จนกระทั่งเสด็จเข้าไปสู่พระคันธกุฎี ดอกไม้จึงได้ตกลงที่ซุ้มประตู
     พระเจ้าพิมพิสารส่งเสด็จพระบรมศาสดาแล้ว ทรงรับสั่ง ให้นายสุมนะเข้าเฝ้า ตรัสยกย่องการกระทำของเขา ที่กล้าสละชีวิตเพื่อบูชาพระพุทธองค์ และได้พระราชทาน ช้าง ม้า ทาส ทาสี นารีผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ อย่างละ ๘ พร้อมทั้ง บ้านส่วย และทรัพย์ ๑ พันกหาปณะ กับเครื่องประดับชื่อว่า มหาปสาธน์ แก่เขา

พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธองค์ถึงผลของการบูชานี้

"อานนท์ นายมาลาการนี้ สละชีวิตเพื่อเรา ทำการบูชาด้วยดอกไม้ จักไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัป จะท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ต่อไปภายภาคหน้าจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่าสุมนะ"

     จะเห็นได้ว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชามีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นเพียงอามิสบูชา แต่ถ้าหากทำถูกที่ ถูกทักขิไณยบุคคล และทำด้วยจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว ย่อมได้รับผลอันไพบูลย์ ดังนั้นการบูชาบุคคลที่ควรบูชา จึงได้ชื่อว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง ไม่ว่าท่านผู้ควรบูชาทั้งหลาย จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม การบูชาก็มีอานิสงส์ไพศาลเช่นกัน ดังเช่นที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า


"ใครๆ ไม่อาจนับบุญของบุคคลผู้บูชาได้ว่า บุญนี้จะมีประมาณเท่าใด ไม่ว่าจะด้วยวิธีนับอย่างไรก็ตาม ซึ่งท่านผู้ควรบูชา คือ พระพุทธเจ้า หรือพระสาวกทั้งหลาย ผู้ข้ามพ้นธรรมที่ทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ข้ามพ้นความเศร้าโศกและความคร่ำครวญแล้ว ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะยังมีชีวิตอยู่ หรือปรินิพพานแล้ว"



ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก
- ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for People https://goo.gl/W1jbjK
- https://www.dmc.tv/pages/phramongkolthepmuni/2007-04-21-1.html
- https://goo.gl/VwJvXA




ปูชา จะ ปูชะนียา นัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง การบูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นอุดมมงคล: น้อมบูชาบุคคลที่ควรบูชาเนื่องในวันครบ ๑๐๐ ปีแห่งการบรรลุธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ปูชา จะ ปูชะนียา นัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง การบูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นอุดมมงคล: น้อมบูชาบุคคลที่ควรบูชาเนื่องในวันครบ ๑๐๐ ปีแห่งการบรรลุธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ Reviewed by Mali_Smile1978 on 04:10 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.